วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

สักยันต์ของประเทศไทย




สักยันต์ ประวัติความเป็นมาในการสักยันต์ของไทย


     วัฒนธรรมการสักบนผิวหนัง การสักลวดลายบนผิวหนังหรือที่เรียกว่าสักลายหรือสักยันต์เป็นวัฒธรรมอย่างหนึ่งของไทย ที่มีมาช้านานแต่ทุกวันนี้ลายสักหรือสักยันต์ตามความเชื่ออย่างโบราณแทบจะไม่มีแล้ว จะมีเพื่อความสวยงามเป็นการตกแต่งเสริมความงามให้กับร่างกายบ้างแต่ไม่มากนัก เรื่องราวของลายสักยันต์ หรือ รอยสักยันต์ ของคนไทยเป็นสิ่งที่น่าศึกษาค้นคว้าเรื่องหนึ่ง แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจใคร่ศึกษามากนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างหนึ่งและนับวันจะสูญหายไป 
        
        "สัก"  คืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เขียนว่า "สัก  คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธี การหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน, ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระ เครื่องหมายหรือลวดลาย, ถ้าใช้หมึกเรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่า สักน้ำมัน (โบ)” ทำเครื่องหมายสักเพื่อแสดงเป็นหลักฐาน เช่น "สักข้อมือ แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือ มีสังกัดกรมกองแล้ว สักหน้า แสดงว่าเป็นผู้ต้องโทษปราชิก เป็นต้น" จากคำอธิบายดังกล่าวทำให้รู้ว่า การสักลายหรือลายสักของไทยคืออะไร ประเพณีการสักนั้นมีไม่แพร่หลาย บางหมู่บ้านจะพบว่า ผู้ชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่มักมีลายสักที่หน้าอก และแผ่นหลังตามสมัยนิยม ในขณะที่ผู้ชำนาญในการสักของท้องถิ่นแสดงความสามารถที่สืบทอดมาอย่างเต็มที่ผู้ที่ทำหน้าที่สักมีทั้งพระสงฆ์และคนธรรมดา 


 การศึกษาค้นคว้าศิลปะชาวบ้านประเภทนี้ ควรจะได้รับการศึกษาบันทึกเกี่ยวกับการออกแบบกรรมวิธีและพิธีกรรม ศึกษาเปรียบเทียบแต่ละกลุ่มชน ศึกษาค่านิยม และความเปลี่ยนแปลง ศึกษาการสักที่สืบทอดมาแต่โบราณ การสักมีรูปแบบที่แตกต่างกันอยู่ 2 รูปแบบ คือ ลายสักที่สืบทอดกันมาแแต่โบราณ และ ลายสักที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ แต่ละรูปแบบจะมีวิวัฒนา การตามแบบฉบับของมัน และแสดงให้เห็นรูปแบบของธรรมเนียมในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในแต่ละแง่แต่ละมุมของลายสักที่สืบทอดกันมาในสังคมไทยในอดีต


        การสักที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ นักประวัติศาสตร์ซึ่งคุ้นเคยกับชีวิตแบบไทย ๆ คงจะทราบความจริงว่าข้าราชการของไทยจะทำตำหนิที่ข้อมือคนในบังคับซึ่งเป็นหน้าที่ของแผนกทะเบียนเป็นผู้บันทึกและรวบรวมสถิติชาย และอาจะเดาได้ว่าการสักเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งส่วนราชการของไทย หรือการสักเป็นไปตามการแบ่งส่วนราชการ การทำเครื่องหมายลงบนร่างกายนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ( พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑ )

        การสักที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ วัตถุประสงค์ของการสัก ผู้ชายบางคนจะสักยันต์ด้วยเหตุผลทางเวทมนต์คาถาเพื่อความแข็ง แกร่งของจิตใจและต้องการอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเพณีนิยมในชนบางกลุ่ม การสักลักษณะนี้จะสักให้เฉพาะชายฉกรรจ์เท่านั้น การสักมีลักษณะที่สอดแทรกไว้ด้วยความเชื่อและพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ก่อนทำการสักจะต้องมีการทำพิธีไหว้ครู ในการสักนั้นก็จะประกอบด้วยการร่ายเวทมนต์โดยอาจารย์สักจะถูผิวหนังของผู้มาสักทั้งก่อน ขณะสักลายหรือสักยันต์ และหลังจากสักเสร็จแล้ว อาจารย์สักแต่ละคนจะมีรูปแบบของลวดลายเป็นของตนเอง และผู้ที่ต้องการจะสักสามารถเลือกลายที่อาจารย์มีอยู่ได้ตามต้องการ ส่วนมากจะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย และ เป็นอักขระขอมและเลขยันต์ อาจจะสักลายทั้งสามประเภทผสมกัน ดังนั้นลายสักของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน


        การสักยันต์ ในประเทศไทยอาจจะมีมาแต่โบราณ แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยใดนั้นไม่มีหลักฐานชัดเจน การสักยันต์เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันนั้นเชื่อว่ามีมานานแล้วดังปรากฎในวรรณคดี เรื่องขุนช้างขุนแผน และวรรณกรรมอื่นๆ แต่การสักมักมองว่าเป็นเรื่องของนักเลง จึงถูกมองไปในทางลบ ทำให้ศิลปะบนผิวหนังประเภทนี้เกือบจะสูญหายไปจากสังคมไทย


เหตุผลที่การสักยังคงมีอยู่คือ หลาย ๆ คนยังเชื่อว่า การสักยันต์จะทำให้มีโชค แคล้วคลาด ปลอดภัย และอยู่ยงคงกระพัน พ้นจากอันตรายต่างๆ รูปแบบของการสักแต่ละชนิดจะมีความขลังที่แตกต่างกัน ลายสักหรือยันต์บางชนิดสามารถช่วยผู้ที่สักให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยุ่งยากได้ สัญลัษณ์บางอย่างของลายสักสามารถทำให้  ผิวหนังเหนียวได้  ฟันไม่เข้า  ศัตรูยิงไม่ออก เชื่อว่าการสักจะช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้ายได้ด้วย


        นอกจากนี้ การสักยันต์ทางไสยศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับการระวังอันตรายและความปลอดภัย ทำให้แคล้วคลาดต่ออันตรายต่างๆ ศิลปะพื้นบ้านประเภทนี้ อาจจะกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดศรัทธาความเชื่อมั่น เกิดความมั่นใจ มันอาจเป็นเครื่องแสดงความจริงต่างๆ วัฒนธรรมสมัยใหม่นั้นเมื่อมองแล้วอาจจะไม่ทำให้ปลอดภัย ส่วนวัฒนธรรมการสักยันต์จึงช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจเขามีความมั่นใจมั่นคงมากยิ่งๆ ขึ้น

        การสักยันต์ที่มีลวดลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในบรรดาผู้ที่นิยมการสัก คือ ลวดลายสักที่ให้ผลทางไสยศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ เพื่อผลทางเมตตามหานิยม และเพื่อผลทางคงกระพันชาตรี
        
        เมตตามหานิยม เป็นการสักเพื่อผลทางเมตตามหานิยมมักจะสักเป็นรูปจิ้งจก หรือนกสาริกาเพื่อเป็นตัวแทนของความมีเสน่ห์เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป โดยเฉพาะให้ผลดีทางการเจรจา ค้าขายทำให้เจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้น หรือเป็นลักษณะตัวอักขระยันต์ เช่น ยันต์ดอกบัว ยันต์ก้นถุง ยันต์โภคทรัพย์ ซึ่งมีผลทางด้านการเงิน เป็นต้น
        
        คงกระพันชาตรี เป็นการสักยันต์ เพื่อให้แคล้วคลาดจากของมีคม อุบัติเหตุ หรืออันตรายทั้งปวง ลักษณะของลายสักเพื่อผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีจะนิยมสักลวดลายซึ่งเป็นตัวแทนความดุร้าย ความปราดเปรียว ความสง่างาม ความกล้าหาย ได้แก่ ลายเสือเผ่น หนุมานคลุกผุ่น หงส์ และลายสิงห์ เป็นต้น หรือเป็นลายที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันภยันตราย เช่น เก้ายอด ยันต์เกราะเพชร หรือลายยันต์ชนิดต่างๆ เป็นต้น


        และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นแก่นแท้ของการสักยันต์ เพื่อผลทางไสยศาสตร์ และถือกันว่าเป็น “หัวใจของการสักก็คือ หัวใจของคาถาที่กำกับลวดลายสักแต่ละลายอยู่ เพราะสิ่งนี้คือเคล็ดลับวิชาคาถาอาคมที่เป็นวิชาชั้นสูงของแต่ละอาจารย์ที่จะไม่เปิดเผยให้แก่ผู้ใดเป็นอันขาด” นอกจากลูกศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รับถ่ายทอดวิชาการสักยันต์ของอาจารย์สืบต่อไป


        ลายสักดังกล่าวจะต้องถูกสักอยู่ในตำแหน่งที่ถูกที่ควร ไม่เช่นนั้นความขลังจะไม่เกิด โดยมากผู้มาสักประสงค์จะให้ลายสักอยู่ภายในร่มผ้ามากที่สุด ตำแหน่งที่นิยมสักเรียงตามลำดับดังนี้คือ หลัง หน้าอก คอ ศีรษะ ไหล่ แขน ชายโครง หน้า มือ และหัวเข่าของบุคคลในแวดวงการสักลาย เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการสักคือเพื่อผลทางไสยศาสตร์ จึงต้องสักโดยครูอาจารย์ที่มีวิชาอาคมศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเท่านั้น ฆราวาสหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีวิชาความรู้ทางด้านนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ครู และอาจารย์ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไป และความศักดิ์สิทธิ์ของการสักก็มักจะได้รับการทดสอบจนเห็นผลเป็นที่ร่ำลือมาแล้ว 


           สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสักไม่ได้รับความสนใจเหมือนในอดีต คือชาวเมืองและรวมถึงผู้คนทั่วไปมองว่า ผู้ที่มีลายสักเป็นคนชั้นต่ำ เป็นนักเลง ความคิดเช่นนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตกที่มองผู้ที่มีลายสักว่าส่วนใหญ่มักเป็นกลาสีขี้เมา หรือคนจรจัด คนเมืองจึงเกิดความรู้สึกว่าลายสักเป็นวัฒนธรรม ของคนบ้านนอก คนไม่มีการศึกษา ทัศนคติเช่นนี้มิได้มีแต่คนกรุงเทพฯ เท่านั้นแต่แพร่ไปสู่เมืองอื่นๆ ด้วย โดยคิดว่าการสักลายเป็นเรื่องของคนจน กรรมกร และคนบ้านนอก ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องลายสัก จึงกระทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะคนที่มีลายสักมักจะปกปิดลายสักไว้อย่างมิดชิด ผู้ที่จะให้ข้อมูลและเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการสักจะเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจของศิลปะโบราณนี้เท่านั้น 
        
         ความเสื่อมอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ได้รับการสักปฏิบัติตนไม่เหมาะสมใช้ผลของการสักยันต์ทางไสยศาสตร์หรือการอยู่ยงคงกระพันชาตรีไปในทางที่ผิด เช่น โอ้อวด ท้าทาย ประลองต่อสู้กับผู้อื่น ทำตนเป็นมิจฉาชีพ ก่ออาชญากรรม ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ค่านิยมของคนที่มีต่อลายสักเป็นไปในทางลบยิ่งขึ้น


ยันต์แปดทิศ ความหมาย ความเชื่อ ความเชื่อ ยันต์แปดทิศ มีสรรพคุณ ทางด้านเมตตา อยู่ยงคงกะพัน คุ้มคองทิศทั้งแปด




ยันต์ห้ายอด ความหมาย ความเชื่อ คุ้มกันภัย และอันตรมายทั้งปวง




ยันต์ หนุนดวง หรือ ยันต์โภคทรัพย์ 5 แถว ความหมาย ความเชื่อ เป็นอักขระขอมโบราณ 5 แถว ความยาว 7 นิ้ว กว้าง 2 นิ้วครึ่ง โดยแถวแรกเป็นคาถาเมตตามหานิยม แถวที่
 2 เป็นคาถาหนุนดวงชะตา แถวที่ 3 เป็นคาถาแห่งความสำเร็จ แถวที่ 4 เป็นคาถาราศีประจำตัว และแถวที่ 5 เป็นคาถามหาเสน่ห์ และแต่ละแถวจะมีพระปิดตา ช่วยเปิดช่องทางในการทำธุรกิจ คอยหนุนเรื่องการค้าให้ก้าวหน้า มั่นคงยิ่งขึ้น ถ้าคนดวงไม่ดี การสักต้องสักเป็นยันต์หนุนดวง หรือ ยันต์โภคทรัพย์ 5 แถว เพราะถือว่าเป็นยันต์คุณพระ ที่มีพลังอานุภาพครอบคลุมทุกด้าน และสามารถที่จะเกื้อหนุนดวงที่ตกต่ำให้โดดเด่นขึ้นมาได้



ยันต์โภคทรัพย์ ความหมาย ความเชื่อ ใส่ไว้ในกระเป๋าเงิน ทำให้เงินพอกพูนเพิ่มขึ้น
ยันต์พญาหงส์ทอง ความหมาย ความเชื่อ เมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์ ทำให้ทุกคนรัก

ยันต์พญาเสือ ความหมาย ความเชื่อ คนเกรงขาม เดินป่าป้องกันสัตว์ร้าย

ยันต์พญาราชสีห์ ความหมาย ความเชื่อ คนเกรงขาม เป็นตบะเดชะ มีอำนาจ

ยันต์ชูชก ความหมาย ความเชื่อ ชายแก่ที่แบกถุงเงินบนบ่า ชื่อเขาคือชูชก เริ่มแรกเขาเป็นขอทาน ต่อมาเขากลายเป็นเศรษฐี ลายสักนี้ดีต่อการค้าและทุกท่านที่ต้องการความร่ำรวย

ยันต์เก้ายอด ความหมาย ความเชื่อ ของยันต์หมายถึงคุณวิเศษของพระพุทธเจ้าทั้ง 9 ประการ ซึ่งแสดงให้เห็นในรูปของยอดแหลมทั้ง 9 ยอด ลายสักยันต์นี้ดีในการป้องกันศาสตราวุธทั้งหลาย

ยันต์หนุมานตัวเก้า ความหมาย ความเชื่อ เหมาะสำหรับอาชีพ ราชการ ตำรวจ หรือองครักษ์เพื่อส่งเสริมให้การงานเจริญก้าวหน้า 


ยันต์นางกวัก ความหมาย ความเชื่อ สำหรับค้าขายให้มีกำไรดี ร่ำรวยเงินทองง


ยังมียันตือีกมายมากที่คนนิยมกันและ


*ไม่อยากให้เพื่อนๆทุกคนคิดว่าสักยันต์เป็นเพียงความงมงายหรือความเชื่อหลอกๆ แต่ข้อให้คิดว่าการสักยันต์เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลและถ้าหากใครสนใจก็ลองไปสักกันดูน่ะครับ


**ข้อมูลผิดพลาดหรือแหล่งที่มาผิดก็ขอโทษที่น่ะครับ


***ยังมียันตือีกมายมากที่คนนิยมกันและขอย้ำน่ะครับ ความเชื่อส่วนบุคคลจริงๆๆ



อ้างอิงข้อมุล 
http://www.itti-patihan.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.html

อ้างอิงยันต์

http://www.baanmaha.com/community/
http://www.mahamodo.com/modo/cabalistic_writing/cabalistic_writing_menu.asp
http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=1485.0






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น